ครม. มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2566


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10  มกราคม พ..2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยครม. มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทส. เสนอ ดังนี้

เรื่องเดิม

  1. นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2563เรื่อง การติดตามสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ ให้ทุกหน่วยราชการบูรณาการการบริหารจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ ทำแนวกันไฟ เพิ่มความชื้นในพื้นที่ด้วยฝายชะลอน้ำ รวมทั้ง ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทํางานด้วยความระมัดระวัง ลดอุบัติเหตุหรืออันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สิน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์รายวันได้ทุกช่องทาง และขอความร่วมมือจากประชาชนให้งดกิจกรรมกลางแจ้งใส่อุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากอนามัยสําหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็กเล็ก รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนการเผา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมทั้งปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์หรือส่วนราชการด้วย
  2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีผู้แทนหน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง

1. การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2566

1.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 และทำการถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ.2565 ได้จัดการประชุมถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2565 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมา และรับฟังปัญหา อุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1.2 แนวทางการดำเนินการที่ได้จากการประชุมถอดบทเรียน ได้ถูกนำไปกำหนดเป็นแผนเฉพาะกิจสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาปี พ.ศ.2566 สำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดและปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

1.3 แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2566 กำหนดขึ้นภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” โดยมีรายละเอียดและหน่วยงานรับผิดชอบโดยสรุป ดังนี้

1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนหน่วยงานสนับสนุน คือ กระทรวงมหาดไทย/กระทรวงสาธารณสุข/กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและภาคเอกชน

2.ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรับผิดชอบทุกหน่วยงาน

3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบ Burn Check) หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ส่วนหน่วยงานสับสนุน คือ กระทรวงพลังงานและภาคเอกชน

4.กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร/กระทรวงมหาดไทย ส่วนหน่วยงานสนุบสนุน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

5.ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุม การเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยกระทรวงกลาโหม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม ส่วนหน่วยงานสนับสนุน คือ เครือข่ายอาสาสมัคร

6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงกลาโหม ส่วนหน่วยงานสนับสนุนคือ กระทรวงมหาดไทย

7.ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทย ส่วนหน่วยงานสนับสนุน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. การมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี พ.ศ.2566 โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

2.1 สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2565จากการดำเนินงานและยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง อย่างต่อเนื่องทำให้ปี พ.ศ.2565 สถานการณ์ฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (1 มกราคม – 31 พฤษภาคม พ.ศ.2565) พบปริมาณ PM2.5 เริ่มสูงขึ้นและเกินมาตรฐานตั้งแต่เดือนมกราคม และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้น โดยปี พ.ศ.2565 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 30ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 27 และจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปี พ.ศ.2565 มีจำนวน 70 วัน ลดลงจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 32 ในขณะที่จำนวนจุดความร้อนลดลงร้อยละ 61

2.2 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ทั้ง “พื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า” และให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขัน ทุ่มเทสรรพกำลังองค์ความรู้และทรัพยากรอย่างเต็มกำลังความสามารถและประสานงานกันในการดำเนินงาน ปฏิบัติการขับเคลื่อนตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2566 โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

1) สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล ปรับรูปแบบการรายงานข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้น่าสนใจ เข้าถึงง่ายเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก

2) สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน นำความเห็นของพี่น้องประชาชนมาปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

3) การป้องกัน และแก้ไขปัญหาต้องเป็นเอกภาพ การรับผิดชอบ กำกับดูแลพื้นที่ต้องไม่เกิดช่องว่าง หรือพื้นที่เกรงใจ และต้องไม่เกิดปัญหา ว่าไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างจังหวัด หรือระหว่างหน่วยงาน

4) ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้ระบบ Single command มีการจัดทำประกาศจังหวัดในสถานการณ์ต่าง ๆ การเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และบูรณาการสั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุกพื้นที่/ทุกระดับ ทั้งอำเภอ ตำบล (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

2.3 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานหลักกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เป็นรายกระทรวง ดังนี้

1) กระทรวงมหาดไทย

– กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อเผชิญเหตุ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร เช่น กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

– กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มอบหมายเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล สร้างความเข้าใจ และความตระหนัก ให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่น ยอมรับ และร่วมมือในการเฝ้าระวัง และดูแลรักษา ไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่า และการเผาในที่โล่ง

– จัดตั้งอาสาสมัครและครือข่ายป้องกัน และแก้ไขปัญหา/ดับไฟป่า ระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน

2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ อำนวยการ/กำกับการ และสนับสนุนให้หน่วยป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ ดูแลป้องกันไฟป่าให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและประสานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟประเมินความเสี่ยงพื้นที่ ระดมสรรพกำลังลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผาป่าโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง หากพบไฟไหม้ ให้เข้าพื้นที่ดับไฟอย่างรวดเร็ว ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง บริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ทั้งการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า ขยายผลโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ในช่วงที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง ให้ออกประกาศตามอำนาจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปกระทำการใดๆ ในพื้นที่ป่า

– กรมควบคุมมลพิษ ติดตาม ตรวจสอบ คาดการณ์ ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พร้อมสื่อสารไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประสานกระทรวงการต่างประเทศ ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียน ผลักดันให้ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2566 และรายงานผลการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

– ร่วมกับท้องถิ่น อาสาสมัครและเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสัมพันธ์เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาป่า และร่วมดับไฟในกรณีเกิดไฟ

3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

– เฝ้าระวัง ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
อย่างเคร่งครัด โดยประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร

– สร้างเครือข่ายเกษตรกรงดการเผา และขยายเครือข่าย เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นเกษตรปลอดการเผา

– ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร สร้างมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนหลักการ Bio-Circular-Green Economy (BCG)

4) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

– กำกับดูแล เข้มงวดกวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับรถยนต์ และจักรยานยนต์ ที่ระบายสารมลพิษ หรือควันดำ

– จัดระบบการจราจรให้คล่องตัวในช่วงสภาวะอากาศปิด และประสานเอกชนในการช่วยเหลือประชาชนในการตรวจสภาพรถยนต์และเปลี่ยนอะไหล่ราคาถูก

5) กระทรวงอุตสาหกรรม

– ตรวจสอบ กำกับ ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ให้ระบายสารพิษออกสู่บรรยากาศ

– ขยายผล/เพิ่มประสิทธิภาพให้มีการลดการเผาอ้อย ให้บรรลุเป้าหมายและมาตรการที่ตั้งไว้

6) กระทรวงสาธารณสุข

– ยกระดับการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคให้มีความพร้อมในพื้นที่ จัดสถานที่รองรับ  พี่น้องประชาชน หากเกิดสถานการณ์ปัญหาจากฝุ่นละอองที่รุนแรง ให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่

– ตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่เสี่ยงที่ปฏิบัติการในการดับไฟป่า เพื่อให้เกิดการรักษาก่อนการปฏิบัติงานและระวังตัวเองในการปฏิบัติงาน (ป้องกันการสูญเสีย)

7) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

– กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามและวิเคราะห์สภาวะอากาศและการสะสมของ ฝุ่นละอองล่วงหน้า เพื่อประสานหน่วยงาน ในการแก้ไขปัญหาและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้เกิดความแม่นยำและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

– GISTDA จัดทำและรายงานข้อมูลจุดความร้อนและพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากให้ทันต่อสถานการณ์ และประเมินพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ประกอบการวางแผนดำเนินงานและยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย และให้บำรุงรักษา พัฒนาต่อยอดระบบบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งานของพี่น้องประชาชน

8) กระทรวงกลาโหม

กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดทหารบก ให้การสนับสนุนกำลังพลเพื่อการสนับสนุนภารกิจของจังหวัด และร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานและอาสาสมัครโดยเฉพาะการดับไฟป่า


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save