ปทุมธานี : ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพชรินทร์ ร่วมสุข กรรมการบริษัท เอทีพี อินโนเวชั่นส์ จำกัด ร่วมลงนามสัญญาบริการวิจัย เพื่อร่วมขับเคลื่อนด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวทางการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากกากตะกอนของระบบบำบัดน้ำเสีย และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ดร.ยุทธนา ฐานมงคล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) วว. และสุภาพร เกียรติวิศาลชัย กรรมการบริษัทเอทีพีฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ เทคโนธานี จ.ปทุมธานี
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวว่า วว. พร้อมส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวทางการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากกากตะกอนของระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งที่ผ่านมา วว. มีประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการจัดการขยะและการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และมีความชำนาญทั้งในด้านการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (Waste to Wealth) และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) อีกทั้งมีองค์ความรู้ในการพัฒนาเชื้อเพลิงขยะ (RDF) หรือเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่มีค่าความร้อนสูง มีความชื้นและปริมาณเถ้าต่ำ ซึ่งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีองค์ประกอบของกากตะกอนไขมันและกากตะกอนที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก มีศักยภาพในการนำมาทำเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเชื้อเพลิงได้ โดยทำการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายผลงานวิจัย และพัฒนาในระดับภาคสนามด้วยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ภายใต้โครงสร้างพื้นฐาน ณ อาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทั้งนี้การสนับสนุนความร่วมมือผ่านสัญญาบริการวิจัย จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านเพชรินทร์ ร่วมสุข กรรมการ บริษัท เอทีพี อินโนโวชั่นส์ จำกัด (ATP) กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของภาครัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular -Green Economy) ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับ วว. จะทำให้การศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวทางร่วมกันเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันด้าน Well-to-Wheel รวมถึง RDF เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป