สกสว. ร่วมแสดงงานมหกรรมวิทย์ฯ 66 ยกชุดความรู้ปลูกฝังแนวคิด “เกาะลันตา โมเดล” การจัดการขยะพลาสติกหมุนเวียน


สกสว. ร่วมจัดนิทรรศการในงาน ‘มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566’ ยกชุดข้อมูลความรู้ “เกาะลันตา โมเดล” หรือ โครงการพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะและขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา มาจัดแสดง เพื่อปลูกฝังแนวคิดเรื่อง ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’

tsri

ภายในงานได้จัดกิจกรรมให้น้อง ๆ เด็กและเยาวชน มาเก็บเกี่ยวความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับ ‘การจัดการขยะและขยะพลาสติก’ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

tsri

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประธานในพิธี “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566” เยี่ยมชมบูธ สกสว. พร้อมกล่าวชื่นชมถึงการนำผลงานวิจัยภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจัดแสดง เพื่อให้เด็กเยาวชนและผู้เข้าร่วมงานได้เข้าร่วม Workshop ผ่าน 4 ฐานกิจกรรม ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นผู้แทน สกสว. ให้การต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ที่จะช่วงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะ เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชม รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง และน้อง ๆ นักเรียน ซึ่งในปีนี้ สกสว. ได้หยิบยกชุดโครงการพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะและขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา โดยการสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผ่าน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)

เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาขยะ เช่นเดียวกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอื่น ๆ ประกอบกับเกาะลันตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวถึง 6,766,858 คน แม้การท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ก็มีขยะตกค้างมากกว่า 5 หมื่นตัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม นอกจากนนี้ ยังพบว่าหน่วยงานส่วนใหญ่ขาดข้อมูลการจัดการขยะที่เพียงพอต่อการสร้างความร่วมมือ วางระบบการบริหารขยะไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง จากการจัดเก็บ คัดแยก แปรสภาพขยะเพื่อนำกลับมาใช้หรือการรีไซเคิล การแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานหรือการจัดการกับขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มีอัตราที่ต่ำมาก รวมถึงมีปัญหาขยะมูลฝอยจากบนบกปะปนและตกค้างอยู่ในทะเล ได้ส่งผลให้ขยะบางส่วนกลายเป็นขยะทะเล บางส่วนรั่วไหลลงสู่ทะเล เช่น โฟม ทุ่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดกาแฟ รองเท้า เชือก อุปกรณ์ประมง ฯลฯ นับเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ การประมงและการท่องเที่ยว รวมถึงขยะพลาสติกและขยะจากอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรคซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

tsri

บพข. จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ขึ้น เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณขยะและมูลค่าพลาสติกประเภทต่าง ๆ และประเมินสัดส่วนการรีไซเคิล และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดการจัดการขยะและพลาสติกที่เหมาะสมและถูกวิธี รวมถึงพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะและพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าการจัดการขยะให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนและพลาสติก

ผลการวิจัยดังกล่าว เกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีพร้อมยกระดับเป็นโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะในพื้นที่เกาะลันตา โดยขับเคลื่อนการปฏิบัติตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สนับสนุนกลไกคณะทำงาน กลุ่มลันตารีไซเคิล Lanta Plas Center เล้าเป็ดไข่อารมณ์ดี และภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของเหลือใช้ร้อยละ 20 ลดปริมาณขยะที่ต้องไปกำจัดหลุมฝังกลบร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของการจัดการขยะและพลาสติกในอำเภอเกาะลันตา ยังจำเป็นต้องขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมและเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สกสว. จึงได้นำแนวคิดในการจัดนิทรรศการและกิจกรรมดังกล่าวภายใต้ธีม “การจัดการขยะและพลาสติกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566” ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11 – 20 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 9 – 11 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save