แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์ เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM 2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลายซึ่งจริงๆ ไม่ได้มีแค่เพียง PM 2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย
เรื่องที่จะเขียนต่อไป ขอบอกให้ชัดเจนก่อนว่าจะไม่ใช่เรื่องดราม่า แต่เป็นข้อเท็จจริงที่อย่างน้อยก็เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราควรเรียนรู้และ ทำความเข้าใจกับมัน (แม้ออกจะยากสักหน่อยสำหรับคนทั่วไป) จึงจะจัดการกับมันได้ และเลิกดราม่าแบบไร้เหตุผลกันเสียที และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ที่มีอะไรสลับซับซ้อนอยู่ในตัวของมันเยอะมาก เราจึงจะขออธิบายแยกออกเป็น 6 ตอน โดยมีรายละเอียดที่พยายามให้จบในแต่ละตอน
เรื่องแรก แม้ในเหตุการณ์ดราม่าเมื่อต้นปี ที่ผู้คนต่างได้พูดถึงเฉพาะเรื่องฝุ่น PM 2.5 แต่จริงๆ แล้วสารมลพิษอากาศมีมากกว่านั้นที่โลกให้ความสนใจกันจริงจัง และประเทศไทยมีการกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ มีอยู่ 8 ตัว คือ ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซคาร์บอน มอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ตะกั่ว (Lead) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน (Total Suspended Particles : TSP) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (Coarse Particulate Matter, Particulate Matter Less Than 10 Micron : PM 10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Fine Particle, Fine Particulate Matter, Particulate Matter Less Than 2.5 Micron : PM 2.5)
นอกจากนี้ยังมีสารมลพิษอากาศที่ถูกกำหนดค่าการปลดปล่อยจากปล่องอุตสาหกรรมอีก เช่น สารปรอท (Mercury) สารประกอบไดออกซิน (Dioxins) สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds : VOCs) และ ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นแต่ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด เช่น สารประกอบโพลีไซคลิก อะโรมาติกส์ไฮโดรคาร์บอน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “พาห์” (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : PAHs) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายมาก (Very Volatile Organic Compounds : VVOCs) แต่ละตัวจะมีอันตรายหรือความเป็นพิษแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังต่างกัน ยกตัวอย่าง สารคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ CO ที่จะ อันตรายแบบปัจจุบันทันที เพราะ CO จะไปแย่งออกซิเจนในเลือด ทำให้คนขาดออกซิเจนและตายได้ ตายแบบที่นอนในรถยนต์ติดเครื่อง แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยนั่นแหละ
เรื่องที่ 2 แม้บทความนี้จะเน้นเรื่อง PM 2.5 ซึ่งเป็นเรื่องของฝุ่น แต่ฝุ่นก็ไม่ได้มีเพียงแค่ PM 2.5 ฝุ่นในอากาศมีหลายขนาด คือ TSP, PM 10, PM 2.5 และ PM 1.0 ทั้งนี้ TSP หรือ Total Suspended Particles คือฝุ่นละอองรวม หรือ ฝุ่นละอองขนาด 100 ไมครอน* หรือต่ำกว่า ซึ่งจะขอเรียกรวมๆ ว่า “ฝุ่นใหญ่” ส่วน PM 10 หมายถึง ฝุ่นที่เล็กลงมา คือขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีขนาดประมาณ เทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของเส้นผม ซึ่งเราขอเรียกว่า “ฝุ่นเล็ก” ฝุ่นขนาดนี้ขนจมูกกรองไม่ได้ มันจะเข้าไปในปอด จึงเป็นอันตรายได้ ฝุ่นที่เล็กลงไปอีกคือ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคือฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่นนี้นอกจากขนจมูกกรองไม่ได้แล้ว ยังทะลุทะลวง เข้าไปได้ถึงในสุดของปอด จึงอันตรายกว่า PM 10 เราขอเรียกฝุ่นนี้ว่า “ฝุ่นจิ๋ว” และฝุ่นจิ๋วนี้แหละที่เป็นต้นเหตุแห่งความเข้าใจผิด ซึ่งนำมาซึ่งดราม่าเมื่อตอนปี ที่ผ่านมา
แต่ฝุ่น PM 2.5 ยังไม่เล็กสุด ปัจจุบันบางประเทศที่วิทยาการทางเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไปไกลมาก ได้ทำการตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่น PM 1.0 (หรือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน) ด้วย เช่น บริเวณสนามบินฮีทโทรว์ (Heathrow Airport) (http://www.airqualityengland.co.uk/site/latest?site_id=LHR2) เพราะเขาคิดว่ามันอันตรายกว่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เสียอีก เพราะฝุ่นนี้หากขนาดยิ่งเล็กลง ก็ยิ่งมุดเข้าไปได้ลึกขึ้นในร่างกายเรา ถึงขนาดสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ อันตรายจึงมากขึ้น ขอเรียกฝุ่นนี้ว่า “ฝุ่นไมโคร” เพื่อให้ฟังดูขึงขัง เข้าใจยาก และชวนติดตาม
เรื่องที่ 3 อันมลพิษอากาศนั้นมี ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้อยู่ 2 ประการ ปัจจัยแรก ได้แก่ สารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ส่วน ปัจจัยที่สอง ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ เราจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้และจัดการได้ คือ ปัจจัยแรกเท่านั้น ส่วนปัจจัยที่สองนั้นเราควบคุมหรือทำอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) อย่างรุนแรง จนเราคาดเดาอะไรล่วงหน้านานๆ แทบไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเราจะมีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อลดปัญหา ก็ต้องเพ่งเล็งไปที่ปัจจัยแรกเป็นประการเดียวเท่านั้น และสำหรับในกรุงเทพมหานคร จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงปลายปีต่อต้นปี หรือตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม (ถ้าเป็นพื้นที่ภาคเหนือก็จะเริ่ม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) ซึ่งมักเป็นช่วงที่อากาศสงบ ลมนิ่ง สารมลพิษอากาศจึงสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานกว่าในช่วงฤดูอื่นๆ ดังจะเห็นได้ว่าดราม่าในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นปี 2561 ได้จางหายไป เมื่อลมร้อนเดือนมีนาคม-เมษายนเริ่มเข้ามาไล่สารมลพิษอากาศเหล่านั้นให้กระจายหายไป
เรื่องที่ 4 แม้จะมีดราม่าว่ามลพิษอากาศบ้านเราแย่มาก จนจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า จะมีจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพมหานครมากขึ้นทุกปีๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วคุณภาพอากาศควรจะต้องเลวลงๆ แต่ คุณภาพอากาศของเราโดยเฉพาะ PM 10 เฉลี่ยรายปีแล้ว กลับดีขึ้นทุกปี (http://air4thai.pcd.go.th/web/index.php) จากกราฟในรูปที่ 1-3 แม้ว่าข้อมูลจะเป็นตัวเลขของ PM 10 มิใช่เป็นข้อมูลของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 แต่ก็ชี้ชัดได้ว่า ทั้งเราและรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คุณภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงคือ เราได้มีการออก กฎหมายที่ทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น โดยได้เปลี่ยนมาตรฐานไอเสียของรถยนต์และมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรฐานยูโร 3 เป็นมาตรฐานยูโร 4 อันทำให้มลพิษต่างๆ ลดลงไปได้มาก นอกจากนี้ เรายังได้มีการควบคุมการ ก่อสร้างไม่ให้ปล่อยฝุ่นออกมามากเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งมีการล้างทำความสะอาดถนนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจายทำอันตรายต่อสุขภาพ ของเราและลูกหลาน ซึ่งคุณความดีนี้ต้องยกให้กับ เจ้าหน้าที่รัฐทุกท่านที่มี ส่วนทำให้อากาศของเราสะอาดขึ้น โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมธุรกิจพลังงาน และกรุงเทพมหานคร ที่ช่วยทำสิ่งดีๆ นี้ให้แก่สังคมคน กทม. (http://www.doeb.go.th/v5/show_km.php?tid=71)



ได้ที่ https://github.com/LILCMU/cmu-cleanair1
บทความที่เกี่ยวข้อง |
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 92 มีนาคม-เมษายน 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล, ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลอ้างอิง:
รูปที่ 1-2 กรมควบคุมมลพิษ (2555) รายงานสถานการณ์ประจำปี พ.ศ. 2555
รูปที่ 3 กรมควบคุมมลพิษ (2559) รายงานสถานการณ์ประจำ พ.ศ. 2559