โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All


การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน

หลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน โดยพื้นที่เป้าหมายจะต้องมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน พร้อมมีระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับ เพื่อรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น เป็นความร่วมมือของทั้งภาคไฟฟ้า รัฐและ/หรือเอกชนและ/หรือชุมชน ร่วมจัดตั้ง โดยอาจมีงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ทั้งนี้ ราคารับซื้อต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด และมีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน และช่วยลดความล้ำได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีเป้าหมายให้แต่ละชุมชนมีส่วนร่วมและถือหุ้น โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจชุมชนเข้าถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10% และไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชน เพื่อเปิดช่องให้เอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้ชุมชน รูปแบบการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะเป็นลักษณะชุมชนร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือชุมชนร่วมกับเอกชนร่วมกับภาครัฐก็ได้ โดยต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากเป็นโรงไฟฟ้าไฮบริด จะต้องแบ่งส่วนรายได้ให้กับชุมชน 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงที่ 25 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 50 สตางค์ต่อหน่วย และต้องทำพันธสัญญาหรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรในการปลูกพืชพลังงาน และเป็นหลักประกันสร้างรายได้จากการปลูกพืชพลังงานส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิตขนาดไม่เกิน 10 MW โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2565 ส่วนค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 3.76-5.34 บาทต่อหน่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

โรงไฟฟ้าชุมชนคืออะไร

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หมายถึง โรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการรับรู้และเห็นชอบในการก่อสร้าง มีส่วนแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้ามอบกลับสู่ชุมชนผ่านทางกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเข้าไปเป็นหุ้นส่วนการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับองค์กรของรัฐ และภาคเอกชน ผ่านทางวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจชุมชนร่วมกันผลิตเชื้อเพลิงจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

นิยามของ ‘ชุมชน’ ในความหมายของโรงไฟฟ้าชุมชน

  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการให้บริการ หรือการอื่นๆที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรูปนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประกาศกำหนด (ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548) และมีความประสงค์ที่จะผลิตเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้ามีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100คน (ทั้งสมาชิกสามัญและสมทบ)
  • กองทุนหมู่บ้าน ในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่มีที่ตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบโรงไฟฟ้า
  • กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 หมายความว่า บุคคล ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบคน และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาจร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรและจดทะเบียนจัดตั้งตาม พระราชกฤษฎีกาฯ ข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล และสามารถประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ ภายใต้การสนับสนุน ส่งเสริมและกำกับของทางราชการ

คุณสมบัติของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรที่จะเข้าร่วม

  • มีสมาชิกสามัญและสมทบไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ถ้ามีไม่ถึงให้รวมวิสาหกิจให้จำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน
  • อยู่ในพื้นที่ที่มีจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • มีพื้นที่ปลูกพืชพลังงานรวมกันไม่น้อยกว่า 1000 ไร่ต่อเมกกะวัตต์
  • ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • มีความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบ และบริหารจัดการ
  • ได้รับการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ มีเอกสารผลการรับฟังความเห็นของชุมชน และเสนอหลักฐานการยอมรับของชุมชน

ผลประโยชน์ที่ได้รับ

  • ได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า (หรือตามที่รัฐบาลกำหนด)
  • ได้รับการโอนหุ้นบุริมสิทธิจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นับจากเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้า (หรือตามที่รัฐบาลกำหนด)
  • มีรายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าจะประกันราคารับซื้อเริ่มต้นที่ 500 บาท/ตัน หรือตามที่รัฐบาลกำหนด โดยเกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 18,000 บาท/ไร่/ปี ( 12 ตัน x 500 บาท x 3 ครั้ง/ปี)
  • มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินสาหรับปลูกพืชพลังงาน ประมาณ 2000 บาท/ไร่/ปี

ผู้ลงทุนคือใคร

  • บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10ล้านบาท ชำระเต็ม
  • มีประสบการณ์ด้านธุรกิจพลังงานในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10 MW

ลักษณะของโรงไฟฟ้าชุมชน

โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

โดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ของเสีย/น้ำเสียจากอุตสาหกรรม ของเสียจากการเกษตร และพืชพลังงาน

ข้อดี สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ความร้อนขับเคลื่อนเครื่องจักร และ ผลิตไฟฟ้า
ข้อเสีย มีกลิ่นรบกวนจากของเสียและแมลงวัน

โรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยใช้เชื้อเพลิงจากเศษวัสดุต่างๆที่เป็นชีวมวล เช่น กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์ม ไม้สับ เป็นต้น

ข้อดี ลดปริมาณขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ทางการเกษตร
ข้อเสีย เกิดการเผาไหม้และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อดี เป็นพลังงานสะอาด และเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดเพราะผลิตจากแสงอาทิตย์
ข้อเสีย การผลิตไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และผลิตได้แต่ตอนกลางวันเท่านั้น

โรงไฟฟ้าไฮบริด

โรงไฟฟ้าแบบหลากหลายเชื้อเพลิง (Multi-Feedstock) เช่น ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย-พลังงานแสงอาทิตย์), ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์), ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีในแต่ละพื้นที่

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

  • หนังสือจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกร จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 6เดือน และใบต่ออายุถ้ามี
  • ทะเบียนรายชื่อสมาชิก
  • ผังคณะกรรมการผู้บริหาร
  • สำเนาบัตรประจาตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน ประธานหรือผู้มีอำนาจลงนาม
  • รายงานการประชุมแต่งตั้ง ประธานหรือผู้มีอำนาจลงนาม (รับรองโดยเกษตรอำเภอ)
  • รายงานการประชุมเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและเลือกบริษัทที่ร่วมทุน
  • แผนที่ตั้งวิสาหกิจชุมชน
  • ลักษณะของธุรกิจที่ประกอบการโดยย่อ

 

ข้อมูลที่คุณอาจสนใจ


Source: ข้อมูล กระทรวงพลังงาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save