วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับภาวะน้ำประปาเค็ม


จากสถานการณ์น้ำประปาเค็มในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามของภาคประชาชนถึงสาเหตุและการนำน้ำประปามาใช้อุปโภค-บริโภค โดยน้ำประปาที่จ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกในช่วงดังกล่าวมีค่าความเข้มข้นของคลอไรด์สูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ ที่กำหนดให้น้ำประปามีปริมาณคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร[1] และมีช่วงเวลาเกิดน้ำประปาเค็ม 6-12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากนำไปบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีอาการบางประการ เช่น โรคไตหรือความดันโลหิตสูง

โดยน้ำประปาเค็มมีสาเหตุมาจากแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปาถูกน้ำทะเลรุกล้ำ เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมีไม่เพียงพอในการผลักดันน้ำเค็ม เมื่อน้ำทะเลรุกล้ำขึ้นมาถึงจุดที่มีการผันน้ำเข้าคลองประปา จึงทำให้น้ำดิบที่เข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปามีค่าความเข้มข้นของคลอไรด์สูงกว่าปกติ ซึ่งระบบการผลิตน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ในน้ำได้ จึงทำให้เกิดภาวะ “น้ำประปาเค็ม”

การรักษาผู้ป่วยโรคไตด้วยการฟอกไต
การรักษาผู้ป่วยโรคไตด้วยการฟอกไต
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/797119

น้ำประปาเค็มจะพบได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูแล้ง และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงเวลาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเขตศูนย์สูตรมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติตั้งแต่ 0.5ºC ขึ้นไป ส่งผลให้เกิดพายุฝนที่รุนแรงบริเวณชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่ประเทศที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไทย จะเกิดความแห้งแล้งมากผิดปกติ[2] ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความแห้งแล้งในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม และพบว่าสามารถเกิดผลกระทบในระดับรุนแรงติดต่อกัน 4-8 สัปดาห์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีฤดูแล้งที่ยาวนานและเกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในหลายพื้นที่ ตลอดจนน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ และขาดแคลนน้ำจืดสำหรับการรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องมีการควบคุมปริมาณน้ำไว้ไม่ต่ำกว่า 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและตลิ่งแม่น้ำลำคลอง จึงเกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งในแต่ละปีจะมีความรุนแรงของการรุกล้ำของน้ำเค็มที่แตกต่างกัน ในบางปีน้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะไกลกว่า 90 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำที่ลงสู่อ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำและระบบนิเวศในวงกว้าง สามารถสังเกตได้จากคุณภาพของน้ำประปาที่เปลี่ยนแปลงไปเช่น มีรสกร่อย

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำประปาเค็ม
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำประปาเค็ม
ที่มา : https://www.facebook.com/MWAthailand

อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำประปาเค็มมักพบได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่นี้รับน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำประปา 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรงงานผลิตน้ำบางเขน และโรงงานผลิตน้ำธนบุรี ภายใต้การดูแลของการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งโรงประปาเหล่านี้รับน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดรับน้ำ ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งมีระยะทางห่างจากอ่าวไทยประมาณ 90 กิโลเมตร ดังนั้น ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำดิบที่เข้าสู่โรงประปาทั้ง 3 แห่ง มีความเค็มสูงขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำประปาในประเทศไทยเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นในการกำจัดความขุ่นและการฆ่าเชื้อโรคจากแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีขั้นตอนในการผลิตน้ำประปาเริ่มจากการรวมตะกอนที่แขวนลอยในน้ำ โดยการเติมสารเคมีและปรับค่าพีเอช จากนั้นจึงทำการตกตะกอนเพื่อแยกของแข็งแขวนลอยเหล่านี้ออก ก่อนจะผ่านเข้าสู่กระบวนการกรองที่จะทำให้ได้น้ำใสออกมา และผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนก่อนจ่ายออกสู่ผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบผลิตนั้น ไม่มีระบบใดเลยที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับกรณีที่น้ำดิบมีปริมาณคลอไรด์สูง จึงทำให้ปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำส่งผลโดยตรงต่อความเค็มของน้ำประปา

กระบวนการผลิตน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
กระบวนการผลิตน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
ที่มา : https://www.pwa.co.th/contents/service/treatment

ทางเลือกหนึ่งที่โรงงานผลิตน้ำประปาใช้ในการรับมือสถานการณ์น้ำทะเลรุกล้ำ คือการหยุดผลิตน้ำประปาในช่วงที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง แต่ก็เป็นทางเลือกที่ทำได้ชั่วคราวในกรณีที่น้ำทะเลหนุนเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูงติดต่อกันนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การประปานครหลวงจะไม่สามารถหยุดกระบวนการผลิตน้ำประปาได้เพราะน้ำประปาที่สำรองไว้มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการส่งจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากระบบผลิตน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยจะไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ออกจากน้ำได้แล้ว เครื่องกรองน้ำส่วนใหญ่ที่เราใช้กันตามบ้านเรือนเองก็มีเพียงแค่บางประเภทเท่านั้นที่สามารถจัดการปัญหาน้ำประปาเค็มได้ โดยจะต้องเป็นเครื่องกรองน้ำที่มีระบบ Reverse Osmosis หรือ RO เท่านั้นที่สามารถกำจัดคลอไรด์ออกจากน้ำได้ ทำให้ในหลายบ้านที่มีการใช้งานเครื่องกรองน้ำซึ่งโดยปกติจะใช้ในการจัดการกับความขุ่น กลิ่นและรสในน้ำด้วยการกรองด้วยเมมเบรนประเภทอื่นๆ และการดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon หรือ Activated Charcoal) ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำประปาเค็มนี้

น้ำประปาที่มีความเค็มสูงเกิดค่ามาตรฐานนี้สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคได้ตามปกติ แต่สำหรับการบริโภคแล้วอาจทำให้เกิดรสที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งหากเป็นผู้ใช้น้ำที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ การบริโภคน้ำที่มีความเค็มเกิดค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ แต่สำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น คงต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาที่ปลายทางเป็นประการแรก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำประปาที่มีความเค็ม อาทิ การเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำเป็นประเภทที่สามารถจัดการกับคลอไรด์ในน้ำได้ หรือการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดสำหรับการบริโภค

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิตน้ำประปา และภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้น้ำ โดยแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำและภาวะน้ำประปาเค็ม พอสรุปได้ดังนี้

  • ภาครัฐ ซึ่งเป็นภาคส่วนหลักในการบริหารจัดการน้ำ ควรมีระบบการแจ้งเตือนกรณีที่จะเกิดวิกฤตภัยแล้งหรือน้ำท่วม เพื่อทำให้ภาคส่วนอื่นๆ สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม ทั้งการสำรองน้ำสำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำดิบ หรือการผันน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตน้ำประปาอย่างใกล้ชิด
  • หน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตน้ำประปา ทั้งการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการดำเนินการในการผลิตน้ำประปา ควรพิจารณาแนวทางระยะยาวสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำประปาเค็มจากการรุกล้ำของน้ำทะเลในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น
    • การเลือกใช้เทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับความเค็มของน้ำได้ เช่น กระบวนการ Reverse Osmosis
    • การหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับภาวะน้ำทะเลรุกล้ำ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นน้ำไหลผ่านมาตั้งแต่ภาคเหนือจนออกสู่อ่าวไทย ทำให้มีกิจกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำอยู่ตลอดเส้นทางของแม่น้ำการพึ่งพาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำดิบเพียงแหล่งเดียว ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    • การเปลี่ยนจุดผันน้ำเข้าสู่คลองประปา เช่น ย้ายจุดผันน้ำให้ลึกเข้าไปจากอ่าวไทยอีก เพื่อลดความเสี่ยงจากการรุกล้ำของน้ำทะเลอย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ย่อมต้องมีการลงทุนจนส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตน้ำประปา จึงต้องมีการทำงานร่วมกับภาครัฐในการหาทางออกในด้านรูปแบบการลงทุนหรือมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นที่อาจส่งผลต่อประชาชนในระยะหนึ่ง
  • ผู้ใช้น้ำ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
    • ผู้ใช้น้ำบริเวณต้นน้ำ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรอาจต้องลดกิจกรรมการเพาะปลูกในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาน้ำแล้ง หรือการเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกให้เหมาะสมกับสภาวะที่มีน้ำน้อยเพื่ออนุรักษ์น้ำจืดให้มีปริมาณเพียงพอในการผลักดันน้ำทะเลที่รุกล้ำขึ้นมาในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ ป้องกันการเกิดภาวะคุณภาพดินเสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของตลิ่งที่จะเป็นปัญหาในระยะยาวหากเกิดขึ้น รวมไปถึงพิจารณาการปรับพื้นที่เพื่อสำรองน้ำ เช่น การขุดบ่อหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ เป็นต้น
    • ผู้ใช้น้ำบริเวณท้ายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือประชาชนที่ใช้น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถมีส่วนร่วมได้โดยการใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้ง เพื่อให้ปริมาณน้ำสำรองที่หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมการไว้สามารถใช้ได้เพียงพออีกทั้งอาจพิจารณาการสำรองน้ำจากแหล่งอื่นไว้ใช้งาน อาทิ การทำระบบรองรับน้ำฝนเพื่อนำประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ

ปัญหาน้ำประปาเค็มนี้ แม้จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงสัญญาณหนึ่งของปัญหาน้ำแล้งและการรุกล้ำของน้ำทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศที่ย่อมส่งผลต่อผู้ใช้น้ำทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การแก้ไขปัญหาก็เป็นเช่นเดียวกับปัญหาที่มีความซับซ้อนอื่นๆ ที่ต้องการความเข้าใจและความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบและสอดประสานกัน เพื่อให้แนวทางที่เลือกใช้มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 97 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล, ดร.พัชรียา รุ่งกิจวัฒนานุกูล, ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save