ศาสตราจารย์นักวิจัย มจธ. ที่ 1 ในไทยจากการจัดอันดับโดย The Reuters Hot List 2021 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก


เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ได้จัดอันดับ 1,000 นักวิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ The Reuters Hot List 2021 ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ Prof. Dr. Shabbir H. Gheewala (ศ. ดร.แชบเบียร์ กีวาลา) อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าศูนย์วิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับการจัดอันดับที่ 552 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดอันดับถูกพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก คือ จำนวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการเผยแพร่ จำนวนครั้งของการที่งานวิจัยเหล่านั้นถูกอ้างอิงถึงในสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ชีววิทยา เคมี หรือ ฟิสิกส์ เป็นต้น และจำนวนครั้งของการอ้างอิงผลงานวิจัยเหล่านั้นในสื่ออื่นๆ เช่น สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และเอกสารเชิงนโยบายต่างๆ ทั้งนี้การประเมินผลกระทบของผลงานวิจัยเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท Digital Science ประเทศอังกฤษที่ได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยนับตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการจัดอันดับนักวิจัยประจำปี 2021 นี้เป็นข้อมูลที่รวบรวมจนถึงช่วงเดือนธันวาคมของปี 2020

ผลงานบน The Reuters Hot List 2021

ดร.แชบเบียร์ กีวาลา ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าศูนย์วิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Sustainability Assessment (LCSA) มีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ ณ เดือนธันวาคม ปี 2020 รวมทั้งสิ้น 236 ผลงานวิจัย มีการอ้างอิงถึงผลงานวิจัยรวมทั้งสิ้น 5,649 ครั้ง และได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2559 ผลงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐศาสตร์ ของระบบการผลิตพลังงานและอาหาร โดยอาศัยหลักการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายของภาครัฐ และสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และพลังงาน รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ฐานข้อมูลด้านการจัดการของเสีย ระบบการผลิตอ้อย รวมถึงระบบการผลิตข้าวในระดับภูมิภาคของประเทศไทย

ผลงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กว่า 20 ปีที่ ศ. ดร.แชบเบียร์ กีวาลา ได้ทำวิจัยด้านการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต สำหรับระบบพลังงาน อาหาร และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมไปสู่รูปแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมเพื่อให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการที่ผ่านมาได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถพัฒนาและต่อยอดไปเป็นแนวทางในการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป

และหากพูดถึงการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วนั้น งานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการนำไปปรับใช้ให้เกิดคุณค่าและมีประสิทธิภาพแก่สังคมต่อไป ซึ่ง มจธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก ทำให้หน่วยงานต่างๆ ของ มจธ. รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากร ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากการจัดอันดับ The Reuters Hot List 2021 นั้น แสดงให้เห็นว่า มจธ. มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 7 Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) ที่มีการเผยแพร่ในระหว่างปี 2015-2021 มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ ศ. ดร.แชบเบียร์ มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 7 ที่มุ่งเน้นดำเนินการเกี่ยวข้องกับ ไบโอดีเซล ชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ มีงานผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 12 Responsible Consumption and Production (การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) ที่มุ่งเน้นศึกษาวิจัยในด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตลอดกระบวนการผลิต และ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 13 Climate Action (การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่มุ่งเน้นทำการศึกษาและวิจัยในด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ วอเตอร์ฟุตพรินต์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการประเมินผลกระทบ และการหาแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเช่นกัน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save