โครงการส่งเสริมการปลูกป่าในประเทศไทยล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ทั้งที่ใช้งบประมาณของภาครัฐและเอกชนร่วมกัน ปัญหาสำคัญๆ ประการหนึ่ง ก็คือ ขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งป่าปลูกเหล่านั้น ชุมชนเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง…วันนี้ กระทรวงพลังงานมีแนวคิดเชิงอัจฉริยะ ทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และลดความเหลื่อมล้ำของชุมชน ส่งเสริมให้ปลูกป่าเศรษฐกิจจาก พันธุ์ไม้โตเร็ว เช่น พืชกลุ่มกระถินยักษ์ และไผ่พันธุ์ต่างๆ กว่า 10 ชนิดที่ปลูกได้ผลดีในประเทศไทย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน ส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้มีการ ส่งเสริมให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งพัฒนามาจากหญ้าเลี้ยงสัตว์ จนได้พันธุ์ที่สามารถเติบโตเร็วและให้ก๊าซมีเทนสูง เหมาะแก่การหมักแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) เพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้ เศษเหลือทิ้งจากพืชต่างๆ เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ต้นข้าวโพด ฯลฯ มาหมักร่วมเพื่อลดการนำไปเผา ซึ่งก่อมลพิษในอากาศ
แนวความคิดและนโยบายอันเฉียบคม นอกจากจะได้รับความสนใจจากวิสาหกิจชุมชน ทั่วประเทศ และภาคเอกชนที่สนใจร่วมโครงการเพื่อทำเป็น CSR หรือ CSV แล้ว ฝ่ายพาณิชย์ของสถานทูต ต่างๆ ในประเทศไทยก็ให้ความสนใจ และหวังว่าจะ สามารถนำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของไทยไปเป็น ตัวอย่างในการพัฒนาประเทศยากจนที่มีสภาพภูมิประเทศไม่ต่างจากประเทศไทย จากมุมมองต่างๆ เหล่านี้ หากรัฐบาลมีความต่อเนื่องและส่งเสริมใน ปริมาณมากพอ จะมี Impact ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ฐานรากไปจนถึง SMEs ทุกระดับ อันเนื่อง มาจาก Supply Chain ของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นยาวมาก มีผลกระทบเชิงบวกในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ก่อสร้าง ไฟฟ้า และอุปกรณ์ ปูนซีเมนต์ และผู้ผลิตหม้อไอน้ำ (Steam Turbine) เป็นต้น แต่สำหรับเกษตรกรแล้ว ทุกๆ 1 เมกะวัตต์ไฟฟ้า จะสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ใน 20 ปี ตามสัญญาที่ชุมชนได้ทำไว้กับภาครัฐ
โรงไฟฟ้าชุมชนต้องเป็นของชุมชนโดยชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ วิสาหกิจชุมชนจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ใหญ่ใจดีภาคเอกชนมาร่วมลงทุน โดยชุมชนใช้พื้นที่เพาะปลูก และแรงงานมาร่วมลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยหลักของโครงการ ส่วนสัญญาขายไฟฟ้า (PPA) ควรเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถดำเนินการต่อตามหลักเกณฑ์ที่ได้ทำไว้กับกระทรวงพลังงาน อีกฝ่ายหนึ่งควรมีสิทธิ์ขอเปลี่ยนหุ้นส่วนได้โดยไม่ทำให้โครงการยุติลง ในทำนองเดียวกัน การปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นของผู้ลงทุน หากเกินกว่าร้อยละ 50 ก็ควรจะได้รับความเห็นชอบจากวิสาหกิจชุมชนเช่นกัน อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ วิสาหกิจ ชุมชน และผู้ร่วมลงทุน หรืออาจเรียกว่า นักลงทุน ควรทำสัญญาร่วมลงทุนและทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกันกับกิจการค้าทั่วไป โดยไม่ใช้เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งต่างฝ่าย ต่างแบ่งหน้าที่กันทำงาน
หากโรงไฟฟ้าชุมชน…ฝันของคนจนที่อยากจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าบ้างหลังจากมีส่วนร่วมมาหลายทศวรรษ และได้ยกมือให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ได้ขายไฟสว่างไสวจนมีเศรษฐีระดับโลกมาแล้วหลายคน วันนี้ฟ้ากำลังจะเปิดให้คนรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปาก ซึ่งอาจเกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์อย่างน้อย 2 เรื่อง ดังนี้
- เป็นครั้งแรกที่ภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมต้องมา ร่วมแรงร่วมใจปลูกพืชพลังงาน หรือพันธุ์ไม้โตเร็ว เพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าในรูปแบบหุ้นส่วนไม่ใช่ลูกจ้าง
- อาจเป็นโครงการแรกๆ ของโลกที่จะกระจายรายได้สู่คนจน ลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม และอาจเป็นต้นแบบ (Role Model) ที่องค์กรระหว่างประเทศสนใจและเข้ามาศึกษา
- BIG ROCK โรงไฟฟ้าชุมชน คงต้องขออนุญาตใช้ศัพท์ของ กระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เนื่องจากเป็นคำที่นักวิชาการและภาครัฐ รวมไปถึงคณะกรรมาธิการนิยมใช้กัน เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นเรื่องที่มีผลกระทบเชิงบวกอย่างชัดเจนและ เป็นรูปธรรม และไม่ใช่งานประจำที่ต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว และ “โรงไฟฟ้า ชุมชน” คือคำตอบของคำว่า BIG ROCK
เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (Biogas)
พืชหลักที่ภาครัฐส่งเสริมเห็นจะได้แก่ หญ้าเนเปียร์ ซึ่งมีหลากหลาย สายพันธุ์ ควรเปรียบเทียบให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่า สายพันธุ์ใดเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังมีพืชพลังงานอื่นๆ ที่เป็นพืชเสริม เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ต้นข้าวโพด และอาจรวมถึงมูลสัตว์ ในสัดส่วนที่ ภาครัฐกำหนด
เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass)
คงต้องเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างต้นกระถินยักษ์และ ต้นไผ่หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนการใช้ไม้สับที่มีขายอยู่ในท้องตลาด และนับวันจะมีปริมาณลดลง และราคาสูงขึ้นในอนาคต โดยต้นทุนกว่าร้อยละ 40 ของไม้โตเร็วมาจากค่าตัด ขนย้าย และย่อยเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ค่าความร้อนและความชื้นก็แตกต่างกัน ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในทุกเทคโนโลยี
แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชนในประเทศไทย ได้มีการคิดและพยายามทำให้เกิดขึ้นมาหลายยุค หลายสมัย หลายรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดผู้มีอำนาจ ก็ลอยแพชุมชนมาโดยตลอด จึงขอยกคำกล่าวของ Frederick Langridge ที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 101 กันยายน-ตุลาคม 2563 คอลัมน์ Energy โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข