สตาร์ทเศรษฐกิจไทย… ก้าวไปยืนบนเวทีโลก ส่งเสริมการลงทุน ดัน SME เตรียมพร้อมรับมือ เงินเฟ้อ-โลกร้อน


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย..สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” จัดขึ้นโดย โพสต์ทูเดย์ และ เนชั่นทีวี ช่อง 22 ซึ่งมีการนำเสนอแนวทางการรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ดังนี้

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่โลกได้เรียนรู้มากมาย มีวิกฤติการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ เกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงินปี 1997 ปัญหา Y2K ช่วงก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปีค.ศ. 2000  ที่เกิดจากการลงทุนมากเกินไปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง รวมถึง The Great Recession 2008 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ในสหรัฐฯ จากการเปิดตลาดเสรีแบบที่ไม่มีขอบเขตที่นำไปสู่วิกฤติ Subprime crisis ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

10 ปีหลังจากนั้น ขณะที่เรากำลังจะฟื้นตัวได้  ก็กลับมาเจอปัญหาที่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะย้อนกลับมาอีกในยุคนี้ นั่นก็คือการระบาดของ โคโรน่า ไวรัส หรือ โควิด-19 ในปี 2020 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกือบล่มสลาย วิกฤตการณ์ครั้งนี้ มันทำให้เรามองเห็นทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ข้อดีคือ เรื่องที่เราสามารถค้าขายกันได้ทั่วโลก เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดาย ส่วนข้อเสีย ก็อย่างที่เราเห็นว่า เมื่อมันเกิดโรคระบาดแล้ว กระบวนการที่เราสามารถเชื่อมโยงกันได้ มันทำให้เราไปบังคับแก้ไขปัญหานี้เกือบจะไม่ได้

จากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เองก็ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่า แต่ละปีจะเกิดปัญหาหรือวิฤตเศรษฐกิจใดบ้าง เช่นเดียวกับ กรณีสงครามรัสเซียและยูเครน แม้จะมีการคาดการณ์ในเบื้องต้นไว้บ้าง แต่คาดไม่ถึงว่าจะยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้ และยิ่งระยะหลัง เริ่มมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดถี่ขึ้น ทำให้หลายคนเชื่อว่าปีนี้ จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะต้องล่มสลายอีกแน่นอน เพราะว่าเหตุการณ์ทั้งหลายรุมเร้า ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวไม่ฟื้น สงครามก็ทำให้ทุกอย่างแพงขึ้น ปัญหาการเมือง ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ปัญหาทางด้านโรคระบาด ปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาทางด้านสุขภาพ ที่ส่อแววว่าจะเลวร้ายลงไปทุกปี ทำให้เกิดคำว่า Polycrisis หรือภาวะหลายวิกฤติ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาหลายด้าน

ยิ่งในปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งเห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์โลก (MSCI) ที่ลดลงถึง 20% โดยเฉพาะกลุ่มเมกะเทค จากปัญหาเหล่านี้ทำให้ต้องมองกลับมาว่า แล้วจะสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลกได้ ซึ่งในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี 2023 มีการพูดถึง polycrisis ค่อนข้างมาก มันไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่ในเมื่อเศรษฐกิจโลกทรุดลง เราต้องรีบลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนให้ได้เร็วที่สุด และยังมีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งเรื่องคน สิ่งแวดล้อม การค้า ที่ต้องพัฒนาให้ยั่งยืนต่อเนื่อง ซึ่งคนทั่วโลกกว่า 7,000 ล้านคน ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ยังมีหลายคนที่มองว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่เลวร้ายมากนัก โดยมองจาก 3 เรื่อง

1.จีนเปิดประเทศแล้ว หลังจากที่ใช้นโยบายซีโรโควิดมาหลายปี ซึ่งเศรษฐกิจของจีนใหญ่ ถึง 19% ของเศรษฐกิจโลก และเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศไทยแน่นอน

2.เรื่องพลังงาน สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่เพราะธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% แต่เป็นเพราะเรื่องพลังงาน ปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่บาร์เรลละ 78 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาแก๊สลดลงจากเดิมอยู่ที่ 80% แต่พบว่าทางยุโรปมีการกดราคาน้ำมันน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ไม่เกินบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ทำให้ราคาพลังงานลดลงมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ความตึงเครียดด้านพลังงานลดลงไป

3.นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกกฎหมายที่ชื่อว่า Inflation Reduction Act เพื่อปรับลดเงินเฟ้อ เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนโดยจะเน้นขึ้นภาษี รวมถึงลงทุนพลังงานสะอาด แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะอุดหนุนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งแตกต่างกับยุโรปที่เก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน

ทั้ง 3 เรื่องนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในส่วนของเอเชียเมื่อเทียบกับยุโรปปัญหาด้านเศรษฐกิจน้อยกว่า แต่มีสิ่งที่ ดร. ศุภชัยได้แนะให้เราต้องเตรียมตัวรับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ ดังนี้

ด้านโยบายทางการเงินของไทย เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงตามธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เหมือนกัน  เรามีความจำเป็นมากกว่าที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ แทนที่จะเอานโยบายการเงินไปกดดันเศรษฐกิจ ให้มันยิ่งตึงขึ้นไปกว่าเดิม การที่เรามีนโยบายการเงินที่ช่วยปัญหาNPL โดยเฉพาะSME ซึ่งช่วยให้ SME ไทยฟื้นตัวได้ใหม่ แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องไม่ดี แต่ปัญหาความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวคือปัญหาที่หนักกว่า ดังนั้นนโยบายการเงินต้องรับมือด้วยส่งเสริมการลงทุน โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่ของไทยค่อนข้างฝืดมาก เราเคยมีการลงทุนถึง 30-35% ของ GDP แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 15% ของ GDP ถือว่าน้อย โดยจะต้องเร่งลงทุนขึ้นไปถึง 20% ขณะที่เศรษฐกิจโลกในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง เราต้องมาดูความสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ยังเป็นตัวขับเคลื่อนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยเข้าสู่ Aged Society หรือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยขณะนี้ไทยและจีนมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรแล้ว ขณะที่ประชากรวัยแรงงานของเราลดลงต่อเนื่อง แต่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้คนวัยทำงานต้งแบกภาระผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างการกระตุ้นในภาคแรงงานให้มากขึ้น ให้ความสำคัญในการ upskill และ reskill เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มากที่สุด ส่วนผู้สูงอายุ เราต้องดูแลให้เขามีสุขภาพดีที่สุด เพื่อที่จะให้เขาทำงานยืดอายุการเกษียณออกไปให้ได้ เป็นต้น เราต้องสร้างการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจภายใน ด้วยการส่งเสริม เราต้องสนับสนุน Creative Economy อย่างเต็มที่ รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่การระดมเงินจากต่างประเทศราว 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีการลงทุนที่EEC

นอกจากนี้ ไทยควรพร้อมรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 ด้าน

1.สร้างความพร้อมด้านพลังงาน หาแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น

2.สร้างความพร้อมด้านอาหาร รักษาตำแหน่งแหล่งอาหารโลก หลังจากที่ไทยถูกลดอันดับไป 13 อันดับกลายเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียนในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งเมื่อรวมค่าเฉลี่ยแล้วไทยต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ควรเร่งแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้สามารถกลับมาอยู่ในอันดับต้นได้

3.ด้านสุขภาพที่ไทยถือว่าแข็งแกร่งมาก โดยปัจจุบันไทยสามารถนำ Compulsory Licensing มาผลิตยาที่สำคัญ (Essential Medicines)ในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน WTO อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องนี้ โดยอยากให้ลงทุนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

4.ต้องพยายามต่อสู้บนเวทีโลกให้มากขึ้น ถ้าโดดเดี่ยวไทยจะไม่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก ซึ่งที่ผ่านมานายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้มีการประชุมในไทย โดยมีการนำเสนอความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เราต้องปรับตัวให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจโลก และอยากทำให้ไทยเป็นผู้นำ องค์กร FAO เพื่อเป็นผู้นำโลกด้านอาหาร

เรื่องของเศรษฐศาสตร์นั้น ห้องทดลองก็คือโลก ที่เราต้องเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้น เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำถูก ทำผิด แล้วก็กลับมาปรับปรุงแก้ไขปัญหา ร่วมมือกับคนอื่นทั่วโลกเพื่อแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องที่ต้องพยายามเดินไปด้วยกัน แน่นอนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้น เราไม่สามารถต่อสู้ในเวทีโลกได้อย่างโดดเดี่ยว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับมือกับประเทศในภาคีและประเทศมหาอำนาจ ในการพัฒนาพื้นที่ หรือการพัฒนารูปแบบการลงทุนที่จะก่อให้เกิดมูลค่าและโอกาส  เพราะความร่วมมือหมายถึงการเปิดโอกาสให้ประเทศไทย สามารถพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมทั้งยังมีโอกาสในการที่จะก้าวไปอยู่ในแถวหน้าของประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจโลกได้” ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: งานสัมมนาหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย..สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก”
จัดโดย โพสต์ทูเดย์ และ เนชั่นทีวี ช่อง 22 https://www.youtube.com/watch?v=VAp2y_jDelo


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save