เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้พัฒนา “GC YOUเทิร์น” แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิล พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมจากพลาสติกใช้แล้วในรูปแบบของเสื้อผ้า กระเป๋าผ้า หมวก ฯลฯ เพิ่มศักยภาพการทำตลาด Upcycled Textile
ล่าสุด GC ได้นำองค์ความรู้ด้านรีไซเคิลและอัพไซเคิลต่อยอดนวัตกรรมเป็นพื้นทางเดินอัพไซเคิลในโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล บริเวณพื้นที่รอบสระน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมระยะทาง 320 เมตร เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดขยะพลาสติกได้กว่า 4,500 กิโลกรัม ต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้อย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล ริเริ่มตั้งแต่ปี 2565 โดยทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกขยะพลาสติกผ่านพันธมิตรของแพลตฟอร์ม “GC YOUเทิร์น” แล้วนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นพื้นทางเดินอัพไซเคิล สร้างแล้วในเดือนกรกฎาคม 2566 ประกอบด้วย 1. ถนนอัพไซเคิล ระยะทาง 130 เมตร กว้าง 1.7 เมตร ผลิตจากยางมะตอยผสมพลาสติกใช้แล้ว LDPFE ฟิล์ม และ LLDPE ฟิล์ม ในอัตราส่วน 9: 1 สามารถลดขยะพลาสติกได้ 250 กิโลกรัม หรือลดก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 27 ต้น 2.ทางเดินอัพไซเคิล ระยะทาง 190 เมตร ทำจากพลาสติกใช้แล้ว Multi Layer Plastic และ LDPE ฟิล์ม 100% สามารถลดขยะพลาสติกได้ 2,740 กิโลกรัม หรือลดก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 297 ต้น และ 3.ท่าน้ำอัพไซเคิล กว้าง 315 เมตร ยาว 7.7 เมตร ทำจากพลาสติกใช้แล้ว Multi Layer Plastic และ LDPE ฟิล์ม 100% สามารถลดขยะพลาสติกได้ 1,575 กิโลกรัม หรือลดก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 171 ต้น รวมทั้งหมดสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกไปสู่หลุมฝังกลบมากกว่า 4,565 กิโลกรัม พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 4,707 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 495 ต้น
จุดเด่นของโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล คือ การได้รับฟังความคิดเห็น การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงระบบนิเวศและการใช้งานอย่างสมดุล โดยยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติที่หลากหลาย สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ที่คงไว้ซึ่งความสมดุลของธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัด พิธีส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อเป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สร้างประโยชน์ต่อชุมชน ควบคู่กับการรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว 101 ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า โครงการนี้ ทางGC ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาทางเดินรอบทะเลสาบที่อยู่ภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้ของ GC ที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลและอัพไซเคิลมาร่วมสนับสนุน ในส่วนของถนน เนื่องจากเรามีแพลตฟอร์ม YOUเทิร์น ซึ่งเป็นการเก็บพลาสติกใช้แล้ว เป็นของเสีย (Waste) นำกลับมาใช้ใหม่ ในส่วนของทางเดินจะใช้พลาสติกประเภทฟิล์มที่รีไซเคิลยาก มาผสมเป็นทางเดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางเดินที่เป็นยางมะตอย นำพลาสติกฟิล์ม LDPE ผสมกับยางมะตอยในอัตราส่วน 1: 9 จะได้ยางมะตอยที่มีคุณสมบัติเหมือนยางมะตอยปกติ คือ มีความยืดหยุ่น ทนทาน ใช้งานเหมือนยางมะตอยทั่วไป ส่วนทางเดินที่เป็นแผ่นหินกระเบื้องจะทำจากพลาสติกทั้งหมดที่เรียกว่า Multi Layer Plastic โดยนำพลาสติกประเภทฟิล์มชนิดต่างๆ มาอัดหลอมรวมกัน พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาในเรื่องความแข็งแรงว่ามีคุณสมบัติเหมือนกระเบื้องปกติ แล้วนำมาใช้ปูเป็นทางเดิน ซึ่งใช้ประโยชน์ได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการปูเป็นชิ้นโดยไม่บล็อกทางน้ำ ทำให้สัตว์ชนิดต่างๆ ยังอาศัยอยู่ในน้ำได้ตามปกติ นับเป็นนวัตกรรมร่วมกับแนวคิด YOUเทิร์น ในการนำพลาสติกมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นโชว์เคสแสดงให้เห็นว่าเราสามารถร่วมมือกันในการทำประโยชน์ให้แก่โลกได้ โดยโครงการฯ นี้ ลดการทิ้งขยะพลาสติก 4,500 กิโลกรัม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 4,700 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 495 ต้น
“ทาง GE ทำเรื่องกำจัดของเสียพลาสติกครบวงจร ร่วมมือกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน โครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคเอกชนก็จะมีโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือกันทำประโยชน์ให้แก่โลก” ดร.คงกระพัน กล่าว
โครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะส่งเสริมให้สังคมได้เห็นถึงประโยชน์ของการหมุนเวียนทรัพยากร ผ่านการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่า และสร้างประโยชน์ ให้ “พลาสติก เทิร์นเมือง” เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ส่งต่อสู่การอัพไซเคิล ถือเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรแบบ Closed Loop ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อยอดสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนให้กับทุกคน