sacit ตอบรับเมกะเทรนด์รักษ์โลก ใช้ BCG Model ยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ระดับสากล ด้วยกระบวนการผลิตงานผ้าทอผสานการใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการย้อมสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit โดยนายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ชมการต่อยอดงานผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ที่นำแนวคิด BCG Model มาใช้ในการสร้างสรรค์งานผ้าทอ โดยครูอุไร สัจจะไพบูลย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 ของ sacit ด้วยกระบวนการผลิตงานผ้าทอผสานการใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการย้อมสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ และดอกคำแสด ที่ให้สีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดอุดรธานี และต่อยอดเรื่องการประยุกต์ใช้วัสดุเศษผ้าที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต จนพัฒนาเกิดมาเป็นสินค้าประเภท Circular Design
นอกจากนี้ยังมีการนำเส้นใยฟิลาเจน ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตตัวเส้นใยจากคอลลาเจน ที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาความชุ่มชื้น กำจัดกลิ่น ป้องกันรังสียูวี และระบายอากาศได้ดีเหมาะกับอากาศประเทศไทย นำมาใช้ในงานผ้ามัดหมี่ขิดทอมือ เป็นการผสานนวัตกรรมการผลิตเข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืนของ sacit ได้แก่ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน , การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม