ทีมเยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงจารึกในสนามแข่งขันนวัตกรรมยานยนต์ระดับภูมิภาค เมื่อทีม “Virgin” จากวิทยาลัย เทคนิคสกลนคร คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรถประหยัดพลังงาน ประเภทรถต้นแบบในการแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย
การแข่งขันนวัตกรรมยานยนต์ระดับภูมิภาคเอเชียประหยัดพลังงาน ในศึก Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023 ที่เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย โดยทางฝั่งไทยส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 5 ทีม นำโดย ทีม Virgin จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร, ทีมเฟื่องฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา และ ทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับทีมชั้นนำอีกหลายประเทศทั้ง จีน, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย, สิงคโปร์ , อินเดีย ฯลฯ
ผลปรากฏว่า ทีม Virgin จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร สร้างผลงานอันสุดยอดคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองในประเภทรถต้นแบบ (Prototype Category) หมวด ICE ด้วยการทำสถิติใช้เชื้อเพลิง 1 ลิตร ต่อการวิ่งระยะทาง 1,867.8 กิโลเมตร
นายนัทพงษ์ สิงหกุล ผู้ขับขี่ของทีม VIRGIN นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยียานยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวว่า “ทุกคนในทีมดีใจมากที่สามารถทำผลงานออกมาได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับทีมผู้แข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน Shell Eco-marathon เป็นสนามที่ท้าทายศักยภาพ ทั้งด้านการออกแบบและประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุดของนักวิศวกรรมยานยนต์ รวมถึงการนำยานพาหนะของเราจากประเทศไทยไปอินโดนีเซียด้วยสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เรา
ฝ่าฟันบนสนามแห่งแรกของการแข่งขันและได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด”
ขณะที่อีก 4 ทีมตัวแทนจากไทย ทีมเฟื่องฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จบในอันดับ 3 ระยะทาง 893.4 กิโลเมตร/1 ลิตร ตามมาด้วย ทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้าอันดับ 4 ระยะทาง 877 กิโลเมตร/1 ลิตร
ส่วนทีม PNRU Collegain-Junior จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ซิวอันดับที่ 4 ในการแข่งขันของ หมวดเชื้อเพลิงแบตเตอรี่ไฟฟ้า ด้วยระยะทาง 600 กิโลเมตรต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และทีม KMUTT EDR Epsilon จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ลงแข่งประเภทแนวคิดรถ Urban Concept ในหมวดแบตเตอรี่ไฟฟ้า ไม่ผ่านเข้ารอบเนื่องจากไม่ผ่านการตรวจทางเทคนิค
ด้านนายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการและกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า
“การแข่งขัน Shell Eco-marathon เป็นการแข่งขันสนามสำคัญที่เชลล์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงออกด้านนวัตกรรมและคิดค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอนาคต
จากรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นใน 2 ประเภท คือ Prototype และ Urban Concept โดยเน้นที่การขับเคลื่อนไปได้ระยะทางไกลที่สุดจากการใช้พลังงานเทียบเท่าเชื้อเพลิง 1 ลิตร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต สอดคล้องกับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Powering Progress ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนในอนาคต”