กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ขับเคลื่อนนโยบายการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้างความพร้อมและเพิ่มความสามารถในการปรับของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์” โดยเน้นย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันกำหนดทิศทางที่เราต้องทำร่วมกัน พร้อมมอบนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองและการรับมือ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเร่งขับเคลื่อนภารกิจอื่นของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือและเยียวยาคนกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมได้ นอกจากนี้การดำเนินการครั้งนี้ก็สนับสนุนการดำเนินการตาม MOU 7 กระทรวง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ได้ข้อสรุปข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ว่าร่างนโยบายและกรอบการดำเนินการการคุ้มครองทางสังคมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับมอบจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ทำการศึกษาและพัฒนาในครั้งนี้ได้ถอดบทเรียนจากต่างประเทศและการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ได้กรอบนโยบายหลัก 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การสนับสนุนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (2) การยกระดับกลไกภายในกระทรวง พม. ให้สามารถดำเนินการคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของกลุ่มเปราะบาง และ (4) การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม นโยบายเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ เชื่อมโยงและสนับสนุนกัน และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มาก นโยบายเหล่านี้ ได้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป
อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบหลากหลาย การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินของมนุษย์ โดยประชากรกลุ่มเปราะบาง มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มอื่น อีกทั้งยังมี
ความสามารถในการปรับตัวจำกัด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยตรง ในการสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถ มีการเตรียมความพร้อม รับมือ และปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกรอบการดำเนินงานร่วมกัน การขับดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลได้ โดยได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ นโยบายการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์ ในครั้งนี้ จะได้นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การร่างกรอบดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายมาจากการรับฟังความคิดเห็นกิจกรรมกลุ่มย่อย ที่ได้ร่วมกันแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรอบการดำเนินงาน เพื่อนำความคิดเห็นที่เหมาะสมมาคัดกรอง ในห้องปฏิบัติการนโยบายทำให้ได้เห็นกลุ่มคนที่ประสบกับปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ การยกระดับกลไกภายในกระทรวงเพื่อเพิ่มพูนความคุ้มครองทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของกลุ่มเปราะบาง และสิ่งสำคัญคือ การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว ที่ต้องอาศัยภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐเพิ่มความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นโยบายเร่งด่วนในการช่วยเหลือเพิ่มความคุ้มครองด้านเกิดภัยพิบัติในพื้นที่กลุ่มเปราะบางแล้ว เรื่องการปรับตัวด้านอาชีพที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเน้นการสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ เช่น ส่งเสริมอาชีพการปลูกพื้นที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพให้เข้ากับบริบทสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยระดมความเห็นของนักวิจัยนี้จะสร้างความชัดเจนมากขึ้น เพื่อจัดทำร่างประกอบการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดความสมบูรณ์นำเสนอสู่กระทรวงฯ พิจารณานโยบายเป็นลำดับต่อไป