อาคารเขียว เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก


“อาคารสีเขียว” ควรจะเป็นอย่างไร หลายคนมองว่าต้องสร้างพื้นที่สีเขียวในปริมาณเยอะๆ ในขณะที่บางคนกลับมองว่าต้องเป็นอาคารประหยัดพลังงาน แต่จริงๆ อาคารเขียวจะต้องเป็นอาคารที่มีความยั่งยืนทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้พักอาศัยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สถาบันอาคารเขียวไทย ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้มูลนิธิอาคารเขียวไทย ที่เกิดจากการรวมตัวกันของสองสมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้การรับรองว่าอาคารไหนที่ผ่านเกณฑ์ผ่านมาตรฐานอาคารเขียวไทย

จักรพันธ์ ภวังคะรัตน์

ทำไมต้องอาคารเขียว ?

“เพราะในอดีต เราสร้างอาคารโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับคนรอบข้าง เน้นประโยชน์เพื่อตัวเราเอง สร้างตึกเพื่อขาย เน้นประหยัดต้นทุนเข้าไว้ ไม่สนใจผู้อยู่อาศัย สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ อาคารไม่เขียว”

จักรพันธ์ ภวังคะรัตน์ รองประธานกรรมการ สถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า อาคารเขียว (Green Building) หรือ Sustainable Building เป็นเมกะเทรนด์ตั้งแต่10 ปีที่ผ่านมา สร้างตึกอย่างไรให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การสร้างอาคารในอดีตจะคำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงานภายในอาคารเป็นสำคัญ แต่ในยุคปัจจุบันและอนาคต การสร้างอาคารที่ดีนั้นจะต้องคำนึงในหลากหลายมิติ อาทิ อาคารที่ดีนั้นต้องประหยัดน้ำ ใช้น้ำน้อยๆ ไม่รบกวนแหล่งน้ำจากธรรมชาติ หรือแม้แต่การใส่ใจสุขภาพของผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร ที่เรียกว่า Indoor Environment Quality ตั้งแต่ ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย

อาคารเขียว จึงกลายเป็นที่จับตา เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกให้การสนับสนุนเกี่ยวกับ Green Building ทั้งในส่วนภาคการส่งเสริมและภาคบังคับ อีกทั้งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มหันมาสร้างอาคารของตัวเองให้มีลักษณะตามเกณฑ์อาคารเขียว จึงทำให้อาคารเขียวเกิดแพร่หลายมากขึ้น

ก้าวต่อไปของสถาบันอาคารเขียวไทย

การจะบอกว่าอาคารไหนเขียว อาคารไหนไม่เขียวนั้น สำหรับประเทศไทยเอง เรามีสถาบันอาคารเขียวไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์อาคารเขียวไทย พร้อมกับให้การรับรองอาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทย

จักรพันธ์ กล่าวว่า สถาบันอาคารเขียวไทย พร้อมที่จะสนับสนุนให้อาคารเขียว ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้น ภายใต้กลไกการส่งเสริมเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การจัดทำหลักเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทยเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน นำไปประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างอาคารเขียวที่ดี พร้อมทั้งการจัดอบรมสัมมนาความรู้เบื้องต้นเรื่องอาคารเขียว โครงการอบรมหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว รวมไปถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมอาคารเขียว อย่างเช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ความร่วมมือในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการลงนามความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการให้ข้อมูลและความรู้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ที่ กนอ.เข้าไปสนับสนุน นอกจากนั้นแล้ว ทางด้านกฎหมาย กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบการสร้างอาคารใหม่ๆ สถาบันอาคารเขียวไทยยังส่งเสริมให้ผู้ออกกฎหมาย มีความเข้าใจเรื่องอาคารเขียวมากขึ้น

“การสร้างอาคารเขียวในประเทศไทย จะเน้นมาตรการส่งเสริมเป็นหลัก ยังไม่ถึงขั้นภาคบังคับ เหมือนอย่างประเทศสิงคโปร์ โดยหน่วยงานภาครัฐได้ออกข้อกำหนดไว้ว่า อาคารที่สร้างในสิงคโปร์ จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวของภาครัฐเท่านั้น”

อาคารเขียวไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง

จักรพันธ์ กล่าวว่า เดิมทีส่วนต้นทุนการสร้างอาคารเขียวกับอาคารทั่วไปนั้น ต่างกันมากถึง 30% ในขณะที่ปัจจุบันอาคารเขียวจะสูงกว่าอาคารทั่วไปเพียง 5-10% เท่านั้น ส่วนศักยภาพของอาคารเขียวในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอาคารเขียวนั้นเป็นเกณฑ์มาตรฐานใหม่ของการก่อสร้างไปแล้ว จึงทำให้อาคารสำนักงานที่ก่อสร้างขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกินครึ่งล้วนเป็น

อาคารเขียว นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาพัฒนาอาคารเขียว โดยเฉพาะ อาคารสำนักงานเกรดเอ หรืออาคารขนาดใหญ่กว่า 80% ที่เป็นสำนักงานอาคารเขียว หรือแม้แต่อาคารคอนโดมิเนียมพักอยู่อาศัยบางรายเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่มโครงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แต่ในขณะที่กลุ่มอาคารคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ มองว่าผู้บริโภคยังไม่ต้องการ ยังติดอยู่กับความหรูหรา ไม่สนใจเรื่องอาคารเขียว ฉะนั้นในส่วนของคอนโดมิเนียม ควรจะกระตุ้นไปที่ผู้บริโภคก่อนให้มีความรู้ความเข้าใจในอาคารเขียวที่ถูกต้อง เพราะผู้พัฒนาโครงการจะเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก หรือแม้แต่ผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่สนใจเรื่องของอาคารเขียว อย่างอาคารศูนย์การค้า ในส่วนองค์กรภาครัฐเอง ทั้ง กฟผ. กฟภ. หรือกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้นิ่งเฉย เริ่มสร้างอาคารใหม่ที่เป็นอาคารเขียวกันมากขึ้น นับเป็นแนวโน้มที่ดีของภาครัฐที่จะสร้างอาคารของตัวเองให้เป็นอาคารเขียว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม

“แม้อาคารเขียวไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนกลุ่มที่สนใจเรื่องอาคารเขียวยังน้อย เทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอาคารขนาดเล็ก ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียมพักอาศัย เนื่องจากยังขาดมาตรการจูงใจจากภาครัฐ แต่ในแง่ของการสร้างมาตรฐานก็ยังคงเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ”

TREES มาตรฐานอาคารเขียวไทย อิงเกณฑ์ระดับสากล

จักรพันธ์ กล่าวว่า TREES เป็นเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันอาคารเขียวไทย ที่อิงกับระดับมาตรฐานสากล ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีหลักเกณฑ์พื้นฐานในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ในขณะที่หลักคิดจะมีลักษณะเหมือนกัน นั่นก็คือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ประหยัดน้ำ ลดการใช้พลังงาน และสุขภาพที่ดี โดยได้มีการปรับให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย สามารถใช้วัสดุในประเทศไทยมากขึ้น ที่จะเหมาะกับการก่อสร้างในประเทศไทยมากกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตไทย อย่างเช่น วัสดุที่นำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารเขียวต้องเป็นวัสดุที่ได้รับฉลากเขียวประเทศไทย ซึ่งหากให้เกณฑ์มาตรฐาน LEED วัสดุที่ใช้ก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น

สถาบันอาคารเขียวไทยได้เริ่มให้การรับรองอาคารเขียวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบันมีส่งรายชื่ออาคารเขียวที่ก่อสร้างใหม่มาแล้ว 97 ราย ตรวจประเมินรับรองอาคารเขียวไปแล้ว 31 ราย อย่างไรก็ตาม การที่จะให้อาคารไทยก้าวไปสู่อาคารเขียวทั้งหมดได้นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในสังคมไทยไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบหรือยินดีจะจ่ายให้กับค่าการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคมจะมองเรื่องความเขียวหลายระดับ สำหรับเมืองไทยคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพราะในต่างประเทศเองก็ไม่ได้ก่อสร้างอาคารเขียวทั้งหมด เพียงแต่สัดส่วนประชากรที่นิยมเรื่องความเขียวมีมากกว่าเมืองไทย ฉะนั้น สภาพสังคม รายได้ของประชากร เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของอาคารเขียว

“สถาบันอาคารเขียวไทย ไม่ได้หวังถึงขนาดให้มีอาคารเขียวเกิดขึ้น 100% เพียงแต่ต้องการเห็นองค์กรขนาดใหญ่ที่กำลังลงทุนอยู่นั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องอาคารเขียว ลงทุนทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสภาพแวดล้อมและสังคมโดยรวม”

ความร่วมมือทุกภาคส่วน กระตุ้นการสร้างอาคารเขียวไทย

หลายคนมักเข้าใจว่าการจะสร้างอาคารเขียว ในตึกจะต้องปลูกต้นไม้จำนวน มากๆ มีพื้นที่สนามหญ้า ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์ของการสร้างอาคารเขียวเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว อาคารเขียวจะต้องเป็นอาคารที่ส่งเสริมให้คนประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ตั้งของอาคารเขียว ส่งเสริมให้ตั้งอยู่ที่ในบริเวณที่เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของอาคารเขียวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มกลับมองว่าอาคารเขียวมีต้นทุนที่สูง จึงไม่กล้าที่จะสร้างอาคารเขียวขึ้นมา ฉะนั้น สถาบันอาคารเขียวไทย จึงพยายามป้อนข้อมูลและเหตุผลเพื่อยืนยันว่าการสร้างอาคารเขียวในยุคปัจจุบันราคาไม่ได้แตกต่างกับการสร้างอาคารทั่วไป ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จะสามารถคืนกลับมาในรูปแบบการประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ หรือมูลค่าอาคารที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้จะเห็นผลในระยะยาว ฉะนั้นกลุ่มคนที่มองไม่เห็นโอกาสดังกล่าว ก็เสียโอกาสในการทำเรื่องอาคารเขียว จักรพันธ์ กล่าว

จักรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการส่งเสริมอาคารเขียวในประเทศไทย ก็อยากให้หน่วยงานของรัฐออกกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางที่สถาบันฯ ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของประเทศในการกำหนดทิศทางการก่อสร้างในประเทศไทย ควรจะเป็นองค์กรที่ชี้นำ หากขณะนี้ยังทำไม่ได้ อีก 5 ปีต่อไปต้องทำให้ได้ ยกตัวอย่าง กรมโยธาธิการอาจจะร่วมมือกับสถาบันอาคารเขียวไทย ออกเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเขียว แนวทางการสร้างแบบอาคารเขียว โดยระยะแรกเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้อาคารเขียวผ่านการให้โบนัส เช่น อาคารที่ผ่านการรับรองจะสามารถก่อสร้างอาคารได้มากกว่าอาคารปกติ หรือสามารถขอใบอนุญาตได้เร็วขึ้น เป็นแนวทางการส่งเสริมที่จะจูงใจให้เกิดการก่อสร้างอาคารเขียวเพิ่มมากขึ้น และหลังจากนั้นจึงปรับแผนมาสู่ภาคบังคับของทางภาครัฐ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการก่อสร้างของประเทศไทยว่าควรจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงหน่วยงานที่ต้องสร้างอาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาที่การรถไฟ การพัฒนาที่ตามแนว EEC ควรจะบรรจุเข้าไปในแผนว่าหากจะก่อสร้างต้องมีความเป็นแบบสีเขียวเพิ่มเข้าไปในการพัฒนาโครงการของรัฐบาลด้วย เพราะหน่วยงานของรัฐต้องกระตุ้นให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งจำเป็น

ล่าสุด สถาบันอาคารเขียวไทยจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการและแสดงนิทรรศการประจำปี 2561 “7th TGBI Expo 2018” เพื่อเป็นการให้ความรู้ในเรื่องของอาคารเขียว ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเท

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคุณอาจสนใจ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save