โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ฝันของชุมชนภาค เกษตรกำลังจะเป็นจริง ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะมีกำหนดคลอด ถึงแม้ จะต้องขับเคี่ยวกันเองเพื่อเข้าสู่เส้นชัยด้วยวิธี Bidding ก็ตาม นาทีนี้พลังงานสีเขียวมาแรงตามกระแสโลก ผู้บริหารพลังงานที่ชื่นชอบในพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์จึงเก็บตัวเงียบอยู่ ปัจจัยสู่ความสำเร็จของโรงไฟฟ้าชุมชนประการหนึ่งก็คือ วิสาหกิจชุมชน หลายๆ โครงการต้องล้มเลิกอันเนื่องมาจากความไม่เข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ถ้าจะกล่าวถึง ความท้าทายของโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว คงอยู่ที่การทำงานร่วมกันของเอกชนผู้ลงทุนและเกษตรกรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะต้องร่วมงานกันผลิตไฟฟ้าขายภาครัฐยาวนานถึง 20 ปี ส่วนความท้าทายด้านเทคโนโลยีก็คงเป็นเรื่องของการพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยี ทั้งด้านการเผา (BIOMASS) และการหมักแบบไร้อากาศ (BIOGAS)
1. ด้านเชื้อเพลิง
1.1 BIOGAS คาดว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ใช้หญ้าในตระกูลเนเปียร์เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย บางสายพันธุ์ก็เกิดจากการตั้งชื่อเพื่อการตลาด แต่ที่เป็นคู่เปรียบเทียบกัน เหมือนมวยคู่เอกก็คือ “ปากช่อง 1” ที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ โดยกรมปศุสัตว์ และ “เขียวสยาม” ซึ่งเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยและออกสู่ตลาดในหลายๆ ชื่อ เช่น เขียวสยาม รากแก้ว สุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พันธุ์ไต้หวัน จินเฉ่า อาลาฟัล นรกจักรพรรดิ จากการตรวจสอบเชิงลึก เนเปียร์แต่ละสายพันธุ์สามารถใช้เป็นวัตถุดิบหมักก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่างกันจนมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับการ เลือกใช้ประโยชน์ในช่วงแต่ละอายุ ซึ่งหญ้าจะมีโปรตีนและน้ำตาลแตกต่าง กันไป ขึ้นอยู่กับดินและวิธีการปลูก การดูแล รวมทั้งภูมิอากาศที่แตกต่างกัน จะขอสรุปว่า พันธุ์ไหนก็ไม่แตกต่างกันมาก สำหรับ Yield ของหญ้าเนเปียร์ จากหลายๆ สำนักจะมาลงตัวที่ 40-70 ตันต่อไร่ต่อปีที่อายุ 90 วัน เพื่อใช้ หมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งโดยปกติ Crop แรกของเนเปียร์จะมี Yield ค่อนข้างต่ำ
1.2 BIOMASS เชื้อเพลิงชีวมวลกลายมาเป็นเรื่องปราบเซียน จากที่เคยใช้ไม้สับจากแหล่งไหนไม่ต้องรับรู้ กลายมาเป็นพืชปลูก ซึ่ง อาจมีราคาสูงกว่าไม้สับทั่วไป โดยปกติราคาไม้สับขึ้นๆ ลงๆ และสูงต่ำขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน พื้นที่ใดมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมาก ราคาไม้สับก็จะ สูง เมื่อโจทย์ใหม่เป็นพืชปลูก และยังให้คำนวณพื้นที่ปลูกที่สอดคล้องกับ ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายด้วยแล้ว คงมีพืชไม่กี่ชนิดที่โตเร็ว ค่าความร้อนสูง ความชื้นต่ำ เก็บเกี่ยวง่าย พืชที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นตัวเลือก ได้แก่ กระถิน ไผ่ รวมทั้งเนเปียร์ที่อายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน
กระถิน มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่แตกต่างกัน
- Acacia กลุ่มของกระถินเทพา กระถินณรงค์/กระถินลูกผสม (เทพา+ณรงค์ เหมาะกับการปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออก ที่มีความชื้นสูง)
- Leucaena กระถินยักษ์ เหมาะสำหรับการปลูกในภาค ตะวันตก ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง โดยปกติค่าความร้อนเฉลี่ยของกระถิน (LHV) ประมาณ 4,000 kcal/kg ส่วนความชื้นเมื่อเป็นไม้สับ ประมาณ 45%
ไผ่ มีกว่า 10 สายพันธุ์ที่ปลูกกระจายทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล กูรูหลายท่านยังเลือกปลูกไผ่รวกใหญ่ ซึ่งมีน้ำหนักดี ค่าความร้อนสูง เก็บเกี่ยวง่าย และค่าขนย้ายประหยัดพื้นที่กว่าไผ่ที่มีลำต้นใหญ่
เนเปียร์ บางสายพันธุ์ของเนเปียร์เมื่ออายุ 5 เดือนขึ้นไป จะมีค่า ความร้อนสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ 10-15% จนเป็นที่ต้องตาต้องใจของโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่เมื่อความชื้นของเนเปียร์เฉลี่ยสูงถึง 65% และมีน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับไผ่และกระถิน เนเปียร์จึงยังเป็นทางเลือกที่ท้าทาย นักเทคโนโลยีอยู่
2. ด้านเทคโนโลยี
2.1 BIOGAS เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มมีใช้ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี เริ่มจากภูมิปัญญาชาวบ้าน การนำเข้าเทคโนโลยี และ “ครูพักลักจำ” กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้ส่งเสริมให้โรงงานประเภทต่างๆ กว่า 500 โรง ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย โดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน ได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3,500 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-พ.ศ. 2555 ตั้งแต่นั้นมาเทคโนโลยี Biogas ก็กลายเป็นที่รู้จักและแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
เทคโนโลยี Biogas คนไทยหลายคนยังเข้าใจว่า ถ้าทุ่มงบประมาณซื้อเทคโนโลยีดังๆ แพงๆ Yield แก๊สก็จะสูง แต่สำหรับ Biogas แล้ว การเตรียมวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิง และความเข้าใจในการทำงานของจุลินทรีย์นั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบการทำงานของเครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Biogas ที่มีวัตถุดิบหลายๆ ชนิดในถังหมักเดียวกัน โดยที่ระยะเวลาการย่อยสลายก็แตกต่างกัน ยิ่งการผลิตแก๊สจากหญ้า เนเปียร์ด้วยแล้ว ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งความหวานและโปรตีน ซึ่ง ยิ่งมากยิ่งดี ส่วนค่า C/N Ratio (คาร์บอนต่อไนโตรเจน) ซึ่งเป็นตัวบอกว่า วัตถุดิบนั้นย่อยสลายง่ายหรือยาก มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นระบบ ไบโอแก๊สไม่ว่าจะเป็น Thermophilie หรือ Medophilie ล้วนจ ำเป็นปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบก่อนนำเข้าถังหมักทุกครั้ง
2.2 BIOMASS เทคโนโลยี โรงไฟฟ้าชีวมวลดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้สร้างโรงไฟฟ้า โดยปกติถ้าต้องการประสิทธิภาพสูง คือ ใช้เชื้อเพลิงน้อย มลพิษต่ำ ราคาก็อาจจะสูง แต่สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อ เศรษฐกิจฐานรากอาจมีคำถามมากกว่านั้น ก็คือ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 3 เมกะวัตต์ ซึ่งหาดู ได้ยากในประเทศไทย เนื่องจากมีราคาไม่แตกต่าง กับโรงไฟฟ้าขนาด 6-7 เมกะวัตต์ มากนัก และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าก็ต่ำกว่า
แต่เมื่อโจทย์เป็นโรงไฟฟ้าระดับชุมชนและต้องประมูลแข่งขันด้านราคา จึงเป็นงานท้าทายผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้สร้างโรงไฟฟ้าอย่างยิ่ง ผู้เขียนหวังว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยี โรงไฟฟ้าขนาดเล็กนี้ให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิง มลพิษต่ำ และรองรับเชื้อเพลิงหลากหลายที่มีความชื้นค่อนข้างสูงได้ดี และราคาแข่งขันได้ คือ ถูกและดี
กว่าท่านจะได้อ่านบทความนี้ อาจจะได้ทราบแล้วว่า บริษัทใดได้รับคัดเลือกบ้าง การ Bidding แข่งขันราคามีข้อดี คือ รัฐซื้อไฟฟ้าได้ในราคาถูก แต่ยังมีข้อกังวลว่าจะได้โรงไฟฟ้า ที่มีมาตรฐานขั้นต่ำ ชุมชนได้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และปิดโอกาสบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทในท้องถิ่น แต่เมื่อ Ranking 1-5 แล้ว โรงไฟฟ้าชุมชนยังได้คะแนนไม่น้อยกว่า 4 คะแนน ในฐานะที่ใช้พลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรมโครงการแรกของประเทศไทย
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 103 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 คอลัมน์ Energy โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข